โรคลำไส้อักเสบ (Inflammatory bowel disease, IBD)



โรคลำไส้อักเสบ (inflammatory bowel disease, IBD) เป็นกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเกิดการอักเสบที่เยื่อบุผนังบริเวณลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้เกิดแผลที่ผนังทางเดินอาหาร หากร่างกายมีการอักเสบส่วนใดส่วนหนึ่งในระบบทางเดินอาหาร หน้าที่และกระบวนการต่างๆของระบบทางเดินอาหารก็จะทำงานได้น้อยลง

นอกจากนี้การเป็นโรคลำไส้อักเสบยังก่อให้เกิดการเจ็บปวด เป็นสิ่งกวนใจในการใช้ชีวิต และในบางครั้งอาจเป็นอันตรายถึงขึ้นเสียชีวิตได้

นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า ทำไมเราถึงต้องมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคลำไส้อักเสบให้มากขึ้น

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคลําไส้อักเสบ ซึ่งอาจเกิดได้จากปัจจัยเหล่านี้ ได้แก่

  1. เชื้อชาติหรือพันธุกรรม ถือว่าเป็นความโชคดีของเราก็ได้ เพราะโรคลำไส้อักเสบมักเกิดขึ้นกับคนยุโรปมากกว่าคนเอเชีย และถ้าคนในครอบครัวมีประวัติการเกิดโรค ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคก็จะเพิ่มมากขึ้น
  2. อาหาร สำหรับผู้ที่มีการแพ้อาหาร หากรับประทานอาหารเหล่านั้นเข้าไป อาจกระตุ้นให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้ เช่น นมวัว แป้งสาลี
  3. ภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มากผิดปกติอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการทําลายเนื้อเยื่อของระบบทางเดินอาหาร จนเกิดการอักเสบและแสดงอาการของโรคขึ้นมา
  4. การติดเชื้อ เกิดได้ทั้งจากเชื้อแบคทเรีย และไวรัส เชื้อเหล่านี้สามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีการสร้างสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้ นำไปสู่การอักเสบของระบบทางเดินอาหาร
  5. ร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้
  6. ความเครียด วิตกกังวล ความเครียดหรืออารมณ์ที่แปรปรวนทําให้ลําไส้ทํางานมากกว่าปกติ จะกระตุ้นให้เกิดหรือทําให้ผู้ที่เป็นโรคอยู่แล้ว มีอาการมากขึ้น
  7. การสูบบุหรี่ ส่งผลให้อาการแย่ลงได้
  8. ยาบางชนิด เช่น ยาปฎิชีวะ ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)
อาการของโรคลำไส้อักเสบ

อาการของโรคลำไส้อักเสบจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการอักเสบที่เกิดขึ้น อาการแสดงที่พบได้บ่อย  ได้แก่

  • ปวดท้องและท้องเสียเรื้อรัง
  • อุจจาระเหลวเป็นน้ำ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • มีไข้ต่ำๆจนถึงไข้สูง
  • มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ
  • ความอยากอาหารลดลง
  • น้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ
วิธีการป้องกันและการรักษาโรคลำไส้อักเสบ
  • การรักษาด้วยยา

ส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มการรักษาด้วยยา ซึ่งชนิดของยาจะขึ้นกับระดับความรุนแรงและตําแหน่งของลําไส้ที่เกิดโรค ผู้ที่เป็นโรคเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะเริ่มมีอาการดีขึ้นภายใน  2-4 สัปดาห์ ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบต้องได้รับการรักษาตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องและไม่ควรหยุดยาเอง กลุ่มยาที่มีการใช้ในผู้ที่เป็นโรคลําไส้อักเสบ ได้แก่

      • ยาลดการอักเสบของลําไส้ เช่น sulfasalazine
      • ยากลุ่ม amino salicylic acid เช่น mesalazine, olsalazine ช่วยลดการอักเสบของลําไส้ใหญ่
      • ยาปฏิชีวนะ เช่น ciprofloxacin, metronidazole
      • สเตียรอยด์ (steroids) เช่น prednisolone
      • ยาปรับภูมิคุ้มกัน (immunomodulators)  เช่น azathioprine, mercaptopurine, methotrexates
  • การผ่าตัด

แพทย์จะทำการผ่าตัดในกรณีที่ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบมีอาการของโรคที่รุนแรงและไม่ตอบสนองต่อยา หรือมีภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากโรค เช่น มีเลือดออกมาก ลำไส้ทะลุ ลำไส้ตีบ และได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นโรคมะเร็ง

  • อาหาร

ผู้ที่เป็นโรคลำไส้อักเสบ สามารถปรับวิธีการรับประทานอาหารเพื่อป้องกันไม่ให้อาการของโรครุนแรงขึ้นมาได้ โดยการ

      • แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อย่อยๆ รับประทานอาหารมื้อเล็ก 5 – 6 มื้อต่อวัน แทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อหลัก วิธีนี้จะช่วยให้ระบบทางเดินอาหารไม่ทำงานหนักจนเกินไป
      • หลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ได้ง่าย ท้องร่วง ปวดท้อง มักเป็นอาการที่เกิดจากการแพ้อาหาร หากมีอาการดังกล่าวร่วมกันการเป็นโรคลำไส้อักเสบ จะทำให้อาการของโรคลำไส้อักเสบรุนแรงขึ้นมาได้ โดยเฉพาะนม และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากอาจมีปัญหาที่ร่างกายขาดเอนไซม์ที่ใช้ย่อยน้ำตาลในนม (น้ำตาลแลคโตส)
      • ควรลดอาหารรสจัด อาหารย่อยยาก เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูป
      • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
      • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • คลายเครียด

การทำให้อารมณ์แจ่มใส และพักผ่อนให้เพียงพอ ร่างกายมีการผ่อนคลาย ลำไส้ก็จะผ่อนคลายตามไปด้วย

  • การรักษาด้วยโปรไบโอติก

โปรไบโอติกเป็นอีกหนึ่งการรักษาทางเลือกที่มีการยอมรับและการศึกษามากขึ้นในปัจจุบัน การศึกษาหรืองานวิจัยต่างๆชี้ให้เห็นว่าจุลินทรีย์ในลำไส้มีบทบาทในการเริ่มต้นการรักษาและบรรเทาอาการของโรคลำไส้อักเสบได้