Probiotics ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างไร



คอเลสเตอรอล คือไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสร้างได้เอง และสามารถพบได้ในอาหาร เป็นไขมันที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานหลายอย่างในร่างกาย ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนและวิตามินบางชนิด รวมไปถึงการสังเคราะห์น้ำดีในตับ อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์และเซลล์ประสาท
คอเลสเตอรอลแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
• คอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (High-Density Lipoprotein: HDL) มีหน้าที่ในการขนส่งคอเลสเตอรอลจากกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆกลับไปยังตับเพื่อกําจัดออกจากร่างกาย ทําให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลง ด้วยเหตุนี้เอง HDL จึงมักได้รับการขนานนามว่าเป็น “ไขมันชนิดดี”
• คอเลสเตอรอลชนิดที่ไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) มีหน้าที่หลักในการขนส่งคอเลสเตอรอลและสาร ประเภทไขมันอื่นๆไปยังเซลล์ต่างๆในร่างกาย การมีระดับ LDL ในเลือดที่สูง เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease) ดังนั้น LDL จึงมักถูกเรียกว่าเป็น “ไขมันชนิดเลว”
นอกจาก LDL และ HDL cholesterol แล้ว ในร่างกายยังมีสารประเภทไขมันอีกหนึ่งชนิดเรียกว่า “ไตรกลีเซอไรด์” (triglyceride) ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้เป็นแหล่งพลังงานและเป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บสะสมไขมันส่วนเกินจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดเช่นเดียวกับการมีระดับ LDL cholesterol ที่สูง ระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกาย (total cholesterol หรือ TC) เป็นผลรวมของปริมาณ LDL HDL และ ไตรกลีเซอไรด์ ดังนั้นการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง จึงหมายถึง การมีคอเลสเตอรอลรวมสูง หรือ LDL สูงนั่นเอง

สาเหตุหลักที่ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลสูง
1. อาหาร ได้แก่ การบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง และการบริโภคอาหารที่มากเกินความต้องการของร่างกาย
2. สูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้ระดับ HDL ลดลง และมีระดับ LDL เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสร้างความเสียหายเเก่เส้นเลือดเเละเพิ่มการเกาะตัวของคอเลสเตอรอล
3. ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์
4. ความผิดปกติจากพันธุกรรม ที่อาจทำให้ร่างกายสร้างคอเลสเตอรอลมากเกินไป
5. สภาวะโรคต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคตับ ไฮโบไทรอยด์ เป็นต้น

การควบคุมระดับคอเลสเตอรอล ทำได้โดย

• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร หลีกเลี่ยงหรือจำกัดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลสูง เพิ่มการทานพืช ผักผลไม้ ที่มีไฟเบอร์สูง
• ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์
• งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
• การใช้ยาเพื่อลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือยาที่เพิ่มการขนส่งคอเลสเตอรอลออกจากกระแสเลือด
• การใช้โปรไบโอติก  ( Probiotics )

โปรไบโอติก ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้อย่างไร
คอเลสเตอรอลเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์เกลือน้ำดี โปรไบโอติกที่สามารถสร้างน้ำย่อยหรือเอนไซม์ที่สามารถย่อยเกลือน้ำดีได้จะทำให้เกลือน้ำดีที่ถูกย่อยแล้วเป็นเกลือน้ำดีอิสระ (deconjugated bile salt) สามารถถูกขับออกทางอุจจาระได้ดี ทำให้ร่างกายใช้คอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์เป็นเกลือน้ำดีทดแทนจึงส่งผลให้ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้นอกจากนี้อาจเนื่องจากการที่โปรไบโอติกนำเอาคอเลสเตอรอลไปใช้ได้โดยตรง เพื่อการสร้างเป็นส่วนประกอบของเซลล์ เช่น ผนังเซลล์ เยื่อหุ้มเซลล์ เป็นต้น ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง ซึ่งสมมติฐานของกลไกการลดคอเลสเตอรอลโดยโพรไบโอติกส์อาจเกิดจากกลไกการทำงานร่วมกัน ดังนี้
• โปรไบโอติกสามารถเข้าไปจับกับโมเลกุลของคอเลสเตอรอลทำให้การทำงานลดประสิทธิภาพลง โดยการผลิตเอนไซม์ย่อยเกลือนํ้าดี (Bile Salt hydrolase, BSH) เอนไซม์นี้จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไฮโดรไลซีสของกรดนํ้าดีชนิดไกลซีนและทอรีนที่จับกับกรดอะมิโน แตกตัวเป็นเกลือนํ้าดีอิสระ ซึ่งมีความสามารถในการละลายนํ้าตํ่ากว่านํ้าดี จึงทำให้ถูกดูดซึมได้น้อยและสามารถตกตะกอนได้ดี และถูกขับออกมาทางอุจจาระ ดังนั้นจึงทำให้ปริมาณของเกลือนํ้าดีที่ใช้ในตับและลำไส้เพื่อย่อยและดูดซึมไขมันในร่างกายลดลงด้วย ดังนั้นร่างกายจึงต้องสังเคราะห์นํ้าดีขึ้นใหม่โดยใช้คอเลสเตอรอลจากตับ จึงทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลภายในตับลดลง อีกทั้งปริมาณที่ถูกส่งออกมาตามกระแสเลือดก็ลดลงด้วยเช่นกัน
• โปรไบโอติกสามารถนำคอเลสเตอรอลไปใช้ในการสร้างเซลล์(cholesterol assimilation) ซึ่งอาจดึงคอเลสเตอรอลไปใช้ในการร่วมสร้างเป็นเยื่อหุ้มเซลล์(cytoplasmic membrane) ใช้ในการเจริญของเซลล์ในขณะที่แบคทีเรียกกำลังอยู่ในช่วงเจริญ
• เซลล์เมมเบรนของโปรไบโอติกอาจสามารถจับกับคอเลสเตอรอลได้(cholesterol removal) ทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดลดลง
Asal Ataie-Jafari และคณะทีม ได้ทำการวิจัยผลของโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติกเปรียบเทียบกับโยเกิร์ตธรรมดาที่มีผลต่ออาสาสมัครที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ทำการทดลองเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ พบว่า อาสาสมัครที่บริโภคโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติก Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium lactis มีระดับคอเลสเตอรอลลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับการบริโภคโยเกิร์ตแบบธรรมดา นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของ G Kiebling และคณะทีม ได้ทำการวิจัยการบริโภคผลิตภัณฑ์นมหมักเป็นระยะยาวมากกว่า 6 เดือน ที่มีผลต่อ HDL cholesterol ทำการทดลองกับอาสาสมัครผู้หญิงสุขภาพดี จำนวน 29 คน เป็นระยะเวลา 21 สัปดาห์ พบว่า กลุ่มที่ทานโยเกิร์ตที่มีโปรไบโอติก Lactobacillus acidophilus และ Bifidobacterium longum มีระดับ HDL เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของ HDL จะส่งผลให้สัดส่วนของ LDL ต่อ HDL (LDL/HDL ratio) นั้นอยู่ในช่วงที่ดียิ่งขึ้น

คอเลสเตอรอลมีความสําคัญต่อการทํางานของร่างกาย แต่การมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่สูง สัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย การควบคุมและลดระดับคอลสเตอรอลในเลือดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคร้ายกับตัวเรา นอกจากการควบคุมอาหาร และการใช้ยาเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลแล้ว ปัจจุบันโปรไบโอติกเริ่มเป็นที่สนใจของผู้คนจำนวนมากและมีงานวิจัยรองรับเกี่ยวกับผลดีต่อสุขภาพมากมาย หนึ่งในประโยชน์ของโปรไบโอติกที่ส่งผลดีต่อร่างกาย คือ การช่วยควบคุมและลดระดับคอเลสเตอรอลได้

อ้างอิง
Salminen S, Ouwehand A, Benno Y, Lee YK. Probiotics: how should they be defined?. Trends in Food Science & Technology 1999;10,107-110.
Wiratchanee Kansandee, Somporn Moonmangmee, Arunrussamee Sangsila, Pariyaporn Itsaranuwat. Health Benefi ts of Probiotic Microorganisms. J Sci Technol MSU 2015; Vol 34. No 2,198-201
อาจารย์ ดร.ภก. ศุภทัตชุมนุมวัฒน์. โคเลสเตอรอลและโรคหลอดเลือด. ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ผศ.ดร. มาโนชญ์ สุธีรวัฒนานนท์,ผศ. ดร.อนันท์ อุ่นศิวิไลย์,ดร. จิราวรรณ อุ่นเมตตาอารีย์,ผศ. ดร. ศิวัฒ ไทยอุดม,ดร. ธนาวิทย์ กุลรัตนรักษ์. การแยกเชื้อโพรไบโอติกจากกากมันส าปะหลัง. (2556)
Asal Ataie-Jafari, Bagher Larijani, Hamid Alavi Majd, Farideh Tahbaz. Cholesterol-Lowering Effect of Probiotic Yogurt in Comparison with Ordinary Yogurt in Mildly to Moderately Hypercholesterolemic Subjects. Ann Nutr Metab 2009;54:22–27
G Kießling, J Schneider, G Jahreis. Long-term consumption of fermented dairy products over 6 months increases HDL cholesterol. European Journal of Clinical Nutrition (2002) 56, 843–849