ผลของโปรไบโอติกต่ออาการในโรคซึมเศร้า



โรคซึมเศร้าเป็นโรคของสารในสมองผิดปกติและพันธุกรรม โดยมีผลกระทบจากบุคลิกภาพและความเครียดในชีวิตจึงทําให้เกิดอาการป่วยขึ้นมา ปัจจุบันยังไม่สรุปได้อย่างชัดเจนว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด ซึ่งอาจเกิดได้จากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  1. ความผิดปกติของสารสื่อประสาท ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของอารมณ์ ซึ่งสารสื่อประสาทดังกล่าวจะเสียความสมดุล ทำให้การทำงานของสมองผิดปกติไป และยาต้านเศร้าส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทเหล่านี้ มีผลทำให้ระดับของสารสื่อประสาทในสมองเกิดความสมดุลสามารถลดอาการซึมเศร้าได้ดี
  2. พันธุกรรม เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการเกิดโรคซึมเศร้าได้ เนื่องจากคนในครอบครัวที่เป็นโรคซึมเศร้ามีโอกาสป่วยได้มากกว่าคนทั่วไป 2.8 เท่า แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีประมาณ 31-42% ดังนั้นถึงแม้มีพ่อแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าลูกก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน ยังคงมีสาเหตุและปัจจัยอื่นร่วมทำ ให้เกิดอาการของโรคนี้ขึ้น
  3. ลักษณะบุคลิกภาพส่วนตัว  ก็เป็นปัจจัยที่ทําให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นเดียวกัน เช่น เป็นคนมองโลกในแง่ร้ายอยู่เสมอ สนใจแต่ในด้านไม่ดีหรือด้านลบของสิ่งต่างๆมากกว่าด้านบวก เมื่อประสบปัญหาก็ใช้วิธีหลีกเลี่ยงหรือหนีปัญหา เป็นคนเก็บอารมณ์ไม่แสดงออกแม้ในสถานการณ์ที่ควร บุคคลที่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า
  4. โรคทางกายและการใช้ยา เช่น โรคที่เกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ การติดเชื้อ โรคทางระบบประสาท โรคมะเร็ง และโรคที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ

นอกจากยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแล้ว ปัจจุบันมีงานวิจัยที่น่าสนใจหลายฉบับพูดถึง “gut-brain axis”

gut-brain axis คือการติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมองและลำไส้ ทั้งสองจะเชื่อมโยงกันผ่านสารสื่อประสาท ระหว่างระบบประสาทลำไส้ (enteric nervous system: ENS) และระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system: CNS) ระบบนี้มีความสำคัญจนขนาดที่แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้ขนานนามว่า ลำไส้ คือสมองที่สองของร่างกาย

หนึ่งในสิ่งที่จะทำให้ระบบนี้ หรือ gut-brain axis ทำงานได้ดี คือ การมีสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกายที่ดี ซึ่งทำได้โดยการเติมโปรไบโอติกให้แก่ร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานโยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดอง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

การศึกษางานวิจัยที่ประเทศแคนาดา Wallace และ Milev ได้จัดทำงานวิจัยทางสถิติที่ทำการศึกษาผลของโปรไบโอติกต่ออาการในโรคซึมเศร้า ซึ่งถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Annals of General Psychiatry ในปี 2017

จากผลการศึกษางานวิจัยในทางสถิติพบว่า มีงานวิจัยมากกว่า 10 ฉบับที่บอกว่า โปรไบโอติกมีส่วนช่วยในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล และความคิดให้ดีขึ้นได้

ตัวอย่างงานวิจัย

  • การศึกษาผลของโปรไบโอติกต่อภาวะทางอารมณ์ในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน ที่เป็นการศึกษาแบบ placebo-controlled study พบว่า Bifidobacterium infantis มีผลช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน โดยสัมพันธ์กับระดับ pro-inflammatory cytokines ที่ลดลง
  • การศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo controlled study อาสาสมัครที่ได้รับโปรไบโอติกซึ่งมีส่วนผสมของ Lactobacillus helveticus และ Bifidobacterium longum มีภาวะเครียด (psychological distress) ลดลง ร่วมกับการลดลงของระดับฮอร์โมนความเครียด cortisol ในปัสสาวะเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม
  • การศึกษาผลของโปรไบโอติกต่อความเหนื่อยล้าของนักกรีฑา พบว่า Lactobacillus gasseri มีผลช่วยทำให้อารมณ์ดี และบรรเทาความเหนื่อยล้าหลังจากการออกกำลังกายแบบหนักของนักกรีฑาได้

อ้างอิง

Clinical Practice Guideline of Major Depressive Disorder for General Practitioner

Wallace and Milev. The effects of probiotics on depressive symptoms in humans: a systematic review. Ann Gen Psychiatry. 2017

O’Mahony L, McCarthy J, Kelly P, Hurley G, Luo F, Chen K, et al. Lactobacillus and Bifidobacterium in irritable bowel syndrome: symptom responses and relationship to cytokine profiles. Gastroenterology. 2005;128(3): 541-51.

Messaoudi M, Lalonde R, Violle N, Javelot H, Desor D, Nejdi A, et al. Assessment of psychotropic-like properties of a probiotic formulation (Lactobacillus helveticus R0052 and Bifidobacterium longum R0175) in rats and human subjects. Br J Nutr. 2011;105(5):755-64.

Sashihara T, Nagata M, Mori T, Ikegami S, Gotoh M, Okubo K, et al. Effects of Lactobacillus gasseri OLL2809 and α-lactalbumin on university-student athletes: a randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Appl Physiol Nutr Metab.2013;38(12):1228-35.