เราจำเป็นต้องกินโปรไบโอติกไหม ปริมาณเท่าไหร่ และตลอดช่วงชีวิตหรือไม่



เราจำเป็นต้องกินโปรไบโอติกไหม?

คำถามนี้น่าจะเป็นคำถามที่ใครหลายๆคนก็ต้องการคำตอบ โดยปกติแล้วจุลินทรีย์ตัวดีหรือโปรไบโอติก จะอยู่ในร่างกายเรามาตั้งแต่เกิด แต่จะลดลงและเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ การใช้ยาปฎิชีวนะ อาหาร ความเครียด และการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ

ซึ่งการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เราหลีกเลี่ยงปัจจัยพวกนี้ได้ยากมากๆ ทั้งอาหารที่ต้องเน้นความสะดวกรวดเร็ว แต่แลกมาด้วยปริมาณน้ำตาลและไขมันที่สูง ความเครียดจากการงาน รวมถึงเวลาเข้านอนที่ดึกมากๆ

จึงอยากให้มองว่า การกินโปรไบโอติกเป็นสิ่งที่สำคัญต่อสุขภาพ เพราะโปรไบโอติกก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เช่นเดียวกับการกินอาหารทั่วๆไป ที่เราต้องการสารอาหารต่างๆทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และเกลือแร่ เพื่อให้ร่างกายได้นำไปใช้เป็นพลังงานและซ่อมแซมส่วนต่างๆในแต่ละวัน การกินโปรไบโอติกก็เช่นกัน เรากินโปรไบโอติกเข้าไปก็เพื่อเติมเต็มในส่วนที่สูญเสียไปจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราเอง

เราสามารถได้รับโปรไบโอติก ทั้งจากโยเกิร์ต นมเปรี้ยว อาหารหมักดอง และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

ต้องกินในปริมาณเท่าไหร่?

มีคำแนะนำว่า ปริมาณโปรไบโอติกที่กิน ควรมีปริมาณตั้งแต่ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากเลย เนื่องจากปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกในรูปแบบต่างๆมากมาย ทั้งแบบผง แคปซูล อาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งมีปริมาณโปรไบโอติกที่เพียงพอต่อการส่งเสริมในด้านสุขภาพ ส่วนอาหารทั่วๆไปก็อาจบอกได้ยากว่ามีปริมาณโปรไบโอติกเพียงพอไหม แต่อย่างน้อยกินเข้าไปก็ดีกว่าไม่ได้กินเลย

ทั้งนี้ปริมาณโปรไบโอติกที่ควรกินต่อวันก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆตามที่กล่าวไปในตอนต้นด้วย ถ้าคิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียสมดุลจุลินทรีย์สูง การเลือกผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกที่มีปริมาณเยอะ ก็จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น

ต้องกินไปตลอดช่วงชีวิตเลยหรือไม่?

ในแต่ละวันเรามีโอกาสที่จะได้รับจุลินทรีย์อยู่ตลอดเวลา จะเป็นตัวดีหรือตัวร้ายก็ต้องดูอีกทีว่าเราไปทำอะไรมาบ้าง ซึ่งก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ภายในระบบทางเดินอาหารของเราได้ตลอดช่วงชีวิต ดังนั้นการกินอาหารที่มีโปรไบโอติกเป็นประจำสม่ำเสมอ จะช่วยในการปรับสมดุลจุลินทรีย์ภายในร่างกาย ซึ่งถือเป็นอีกทางเลือกที่ดีสำหรับการดูแลสุขภาพเลยก็ว่าได้ เพราะช่วยทั้งในเรื่องของการขับถ่าย บรรเทาอาการโรคลำไส้ ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ให้เราได้อีกด้วย

สุขภาพดี เริ่มต้นที่ลำไส้

อ้างอิง

Benjamin Kligler, et al. Probiotics. merican Family Physician 2008; 78:1073-1078

Gail A.M. Cresci and Kristin Izzo. Chapter 4 – Gut Microbiome. Adult Short Bowel Syndrome

Ana M Valdes, et al. Role of the gut microbiota in nutrition and health. BMJ 2018; 361:36-44