Gut-brain axis เพราะลำไส้คือ สมองที่ 2 ของร่างกาย



หลายๆคนคงรู้อยู่แล้วว่าสมองของเรานั้น มีหน้าที่ในการควบคุมส่วนต่างๆของร่างกาย  ทั้งการเคลื่อนไหว พฤติกรรม การรักษาสมดุลภายในร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ อารมณ์ ความจำและความรู้สึก

แต่มีอยู่อวัยวะหนึ่งที่มีความพิเศษต่างจากอวัยวะอื่นๆของร่างกาย นั่นก็คือ ลำไส้ เป็นเพราะว่าลำไส้สามารถทำงานได้ด้วยตัวมันเองและไม่ต้องรอให้สมองสั่งการว่าจะต้องทำอะไร

Gut-brain axis คืออะไร?

Gut-brain axis หมายถึง การติดต่อสื่อสารกันระหว่างสมองและลำไส้ โดยทำงานผ่านระบบประสาทส่วนกลาง (central nervous system: CNS) และระบบประสาทที่ลำไส้ (enteric nervous system: ENS) นั่นหมายความว่าการติดต่อสื่อสารนี้เป็นการนำคำสั่งจากสมองไปยังทางเดินอาหาร และระบบทางเดินอาหารก็สามารถสื่อสารกลับไปยังสมองได้เช่นเดียวกัน ซึ่งมีผลควบคุมการทำงานของระบบต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน การย่อยอาหาร เมแทบอลิซึม ความอยากอาหาร และความเครียด

ด้วยความที่ระบบประสาทลำไส้ (enteric nervous system: ENS) ทำงานเป็นอิสระจากการสั่งการของสมอง ทำให้ระบบประสาทลำไส้หรือว่าลำไส้นั้น ถูกขนานนามว่าเป็น สมองที่ 2 ของร่างกาย

ดังนั้นหากเราดูแลระบบทางเดินอาหารได้ไม่ดี รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ หรือรับประทานอาหารตามใจปาก ก็จะทำให้เกิดปัญหาต่างๆของร่างกาย เช่น มีปัญหาที่ระบบทางเดินอาหาร เกิดความวิตกกังวลใจ ความหิว ความอิ่มและระบบภูมิคุ้มกัน

อาหารที่จะช่วยให้ Gut-brain axis ดีขึ้น มีดังนี้

  • โอเมก้า 3 เป็นไขมันที่พบได้ในปลาและอาหารทะเล ถั่ว ธัญพืช และน้ำมัน มีส่วนช่วยในการเพิ่มจุลินทรีย์ทีดีในลำไส้และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคสมองต่างๆ
  • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง พบได้ใน พืช ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืช ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้
  • อาหารที่มี Polyphenol สูง พบได้ในพวก โกโก้ ชาเขียว เมล็ดกาแฟ น้ำมันมะกอก และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ มีส่วนช่วยในระบบภูมิคุ้มกันและเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
  • อาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว กะหล่ำปลีดอง และชีส เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย จุลินทรีย์ในลำไส้มีผลต่อสุขภาพของสมอง หากเรามีจุลินทรีย์ที่สมดุลภายในลำไส้ก็จะทำให้สุขภาพของสมองดีขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโปรไบโอติก นอกจากอาหารหมักดองที่เป็นแหล่งของโปรไบโอติกแล้ว โปรไบโอติกในรูปของอาหารเสริมก็เป็นอีกทางเลือกที่จะทำให้ได้รับโปรไบโอติก หากเราไม่สามารถรับประทานหรือหาอาหารหมักเหล่านั้นได้

นอกจากจุลินทรีย์ที่ดีหรือโปรไบโอติก (Probiotics) จะมีประโยชน์ต่างๆต่อร่างกายมากมายแล้ว ยังมีการใช้โปรไบโอติกเพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตเวชอีกด้วย นั้นคือ ไซโคไบโอติกส์ (Psychobiotics) ซึ่งเป็นโปรไบโอติกที่มีประโยชน์ต่ออาการทางจิตเวช เช่น ความเครียด ความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

โรคลำไส้แปรปรวนจัดเป็นความผิดปกติของ gut-brain axis ซึ่งมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลเป็นภาวะร่วมที่สำคัญ มีการศึกษาทางคลินิกหลายการศึกษาที่เกี่ยวกับผลของโปรไบโอติกในโรคลำไส้แปรปรวน ในการศึกษาหนึ่งซึ่งจัดเป็น placebo-controlled study พบว่า Bifidobacterium infantis มีผลช่วยลดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวน โดยสัมพันธ์กับระดับ pro-inflammatory cytokines ที่ลดลงอีกด้วย

การศึกษาแบบ randomized, double-blind, placebo controlled study อาสาสมัครที่ได้รับโปรไบโอติกซึ่งมีส่วนผสมของ Lactobacillus helveticus  และ Bifidobacterium longum มีภาวะเครียด (psychological distress) ลดลง ร่วมกับการลดลงของระดับฮอร์โมนความเครียด cortisol ในปัสสาวะ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่า Lactobacillus gasseri มีผลช่วยทำให้อารมณ์ดี บรรเทาความเหนื่อยล้าหลังจากการออกกำลังกายแบบหนักในนักกรีฑาได้

จะเห็นได้ว่าโปรไบโอติกในระบบทางเดินอาหารมีผลต่อการทำงานของสมองผ่านการสื่อสารที่เรียกว่า Gut-brain axis นอกจากการดูแลในเรื่องของการรับประทานอาหารแล้ว การได้รับโปรไบโอติกทั้งจากอาหารหรือจากผลิตภัณฑ์อาหารเสริม จะช่วยให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ทั้งช่วยลดความเครียด ลดภาวะวิตกกังวล และช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย

อ้างอิง

Ruairi Robertson. The Gut-Brain Connection: How it Works and The Role of Nutrition.

ปวริศ วงษ์ประยูร. กลไกการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของโปรไบโอติกส์และผลดีต่อสุขภาพจิต. บทความฟื้นฟูวิชาการสำหรับการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

O’Mahony L, et al. Lactobacillus and Bifidobacterium in irritable bowel syndrome: symptom responses and relationship to cytokine profiles. Gastroenterology. 2005;128(3):541-51.

Messaoudi M, et al. Assessment of psychotropic-like properties of a probiotic formulation (Lactobacillus helveticus R0052 and Bifidobacterium longum R0175) in rats and human subjects. Br J Nutr. 2011;105(5):755-64.

Sashihara T, et al. Effects of Lactobacillus gasseri OLL2809 and α-lactalbumin on university-student athletes: a randomized, double-blind, placebo-controlled clinical trial. Appl Physiol Nutr Metab.2013;38(12):1228-35.